โลโก้เว็บไซต์ นักศึกษา สถาปัตยกรรมคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ระดับภาคเหนือ คว้าตั๋วเข้ารอบประกวดต่อระดับประเทศ | หอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

นักศึกษา สถาปัตยกรรมคว้ารางวัลชนะเลิศการออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน ระดับภาคเหนือ คว้าตั๋วเข้ารอบประกวดต่อระดับประเทศ

เผยแพร่เมื่อ : พฤหัสบดี 10 มิถุนายน 2564 โดย อภิญญา พูลทรัพย์ จำนวนผู้เข้าชม 5976 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

           นายสิรวิชญ์ จำนงค์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาสถาปัตยกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ล้านนา ชนะเลิศการประกวดผลงาน SAV(F)E HOUSE ในโครงการประกวดออกแบบบ้านประหยัดพลังงานและมีประสิทธิภาพ (Young Architect ECO Home Contest) ระดับภูมิภาคภาคเหนือ ประเภทบ้านประหยัดพลังงาน พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 150 ตารางเมตร รับเงินรางวัล 30,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณและได้รับสิทธิเป็นตัวแทนภาคเหนือเข้าร่วมการประกวดในระดับประเทศ ชิงทุนการศึกษา 1 แสนบาท ประกาศผลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ซึ่งผู้ชนะรางวัลที่ 1 2และ 3 ของทุกประเภท ทุกภูมิภาค จะต้องเข้าร่วมค่ายยุวสถาปนิก (Young Architect Camp ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประกวดระดับประเทศต่อไป

          โครงการประกวดออกแบบบ้านประหยัดพลังงาน และมีประสิทธิภาพ (Young Architect ECO Home Contest)ดำเนินการโดยศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณปี 2563 จาก กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ที่กำลังศึกษาในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ หรือคณะอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ และการประหยัดพลังงาน เช่น มัณฑนศิลป์ ออกแบบตกแต่งภายใน วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด เพื่อให้ได้ผลงาน บ้านประหยัดพลังงาน และมีประสิทธิภาพ ที่สามารถนำไปพัฒนาเป็นแบบก่อสร้างมาตรฐานพร้อม BOQ  เผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป ดาวน์โหลดฟรี เพื่อนำไปใช้เป็นแบบในก่อสร้างบ้านประหยัดพลังงานได้จริง

            โดยผลงานที่ส่งเข้าร่วมการประกวดนั้น แบ่งออกเป็น 2  ประเภท  ได้แก่ประเภทบ้านประหยัดพลังงาน  ขนาดเล็ก  1-2  ชั้น  พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน  150  ตารางเมตร  งบประมาณการก่อสร้าง 3,000,000 บาท และประเภทบ้านประหยัดพลังงาน ขนาดใหญ่ 2-3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยไม่เกิน  300  ตารางเมตร  งบประมาณการก่อสร้าง  6,000,000  บาท  (ไม่รวมนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีการประหยัดพลังงาน ที่มีราคาสูง) ซึ่งจะต้องสามารถนำไปพัฒนาเป็นแบบบ้านมาตรฐาน  เพื่อใช้ก่อสร้างจริงได้ในบริบทที่หลากหลายโดยสามารถนำเทคโนโลยีการก่อสร้างบ้านสำเร็จรูป (knockdown) มาเป็นองค์ประกอบในการออกแบบได้ รวมทั้งให้กำหนดตำแหน่งโครงสร้างสำหรับการติดตั้งนวัตกรรมพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีการใช้ ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพในการออกแบบด้วย 







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา