โลโก้เว็บไซต์ พิธีถวายราชสดุดีและถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2565 | หอสมุด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

พิธีถวายราชสดุดีและถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2565

เผยแพร่เมื่อ : ศุกร์ 1 เมษายน 2565 โดย นางปภาดา พลอยอิ่ม จำนวนผู้เข้าชม 6532 คน

ยังไม่มีคะแนนสำหรับบทความนี้ ผู้อ่านสามารถให้คะแนนบทความได้จากปุ่มข้างใต้

วันที่ 1 เมษายน 2565 นายบุญฤทธิ์  สโมสร  ผู้ช่วยอธิการบดี   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พิษณุโลก เป็นประธานพิธีถวายราชสดุดีและถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2565 พระชนมายุ 67 พรรษา  โดยมี คณาจารย์  ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง และนักศึกษา ร่วมพิธี บริเวณอาคารอเนกประสงค์ ด้านหน้าอาคารอำนวยการ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา  พิษณุโลก

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราชบริพารเรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

          สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงบำเพ็ญพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่ชาติบ้านเมือง โดยเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภูมิภาคต่างๆ อยู่เสมอ และทรงช่วยเหลือกิจการโครงการตามพระราชดำริทุกโครงการ พร้อมทรงรับพระบรมราโชบายมาทรงดำเนินการสนองพระเดชพระคุณ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในด้านต่างๆ

          นอกจากพระราชกรณียกิจหลากสาขา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถทางด้านอักษรศาสตร์เป็นที่ประจักษ์ พระองค์ทรงประพันธ์และแปลหนังสือมากมาย รวมทั้งหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน โดยทรงใช้พระนามแฝงหลายชื่อ อาทิ แว่นแก้ว ที่ทรงใช้เมื่อ พ.ศ. 2521 ในหนังสือพระราชนิพนธ์สำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน

          วันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันหนังสือเด็กแห่งชาติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ โดยใน พ.ศ. 2548 นับเป็นปีมหามงคลที่ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นสมควรน้อมเกล้าฯ ถวายพระเกียรติ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงส่งเสริมการอ่าน และทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์สำหรับเด็กและเยาวชนมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์

การสถาปนาพระอิสริยยศ

สยามบรมราชกุมารี

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ให้สูงขึ้นให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตฉัตร (เศวตฉัตร 7 ชั้น) พร้อมทั้งเฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2520

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า

          ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระนามาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี







ออกแบบและพัฒนาโดย สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา